วันอาทิตย์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2553

Best Car: Mercedes Benz





ภาพวัดวาอารามซ้อนสลับกับตึกสูงทันสมัยคือภาพสะท้อนความกลมกลืนระหว่างวิถีชีวิตไทยสมัยใหม่กับวัฒนธรรมประเพณีเก่าแก่แม้สายถนน ในเมืองใหญ่จะคลาคล่ำด้วยยวดยานนานาชนิด ผู้คนในดินแดนแห่งรอยยิ้มและอิสรเสรียังจำได้ว่า “ช้าง” เคยมีบทบาทเป็นพาหนะสำคัญในการสัญจรและลำเลียงขนส่ง หรืกระทั่งการรบทัพจับศึก สัญลักษณ์พิธีกรรมความเชื่อต่างๆ ที่เกี่ยวกับช้างก็ยังคงแนบแน่นในสำนึกของคนไทย ช้างยังคงเป็นสัตว์นำโชคที่ทุกคนโปรดปรานเหมือนเมื่อร้อยปีก่อน ในแง่หนึ่ง ความสำคัญของราชาแห่งพาหนะสี่เท้าได้สะท้อนความเป็นจริงในวิถีชีวิตไทยที่การคมนาคมขนส่งทางบกมีความสำคัญ ไม่แพ้ทางน้ำมานานก่อนที่จะมีการตัดถนนและสร้างทางรถไฟ


รถบัสและรถบรรทุกที่เมอร์เซเดส-เบนซ์ เริ่มส่งเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยในทศวรรษที่ 1920 มีบทบาทเด่นในการพัฒนาระบบขนส่งทางไกล ยกระดับความสะดวกรวดเร็วและปลอดภัยขึ้นเป็นอันมาก ความเป็นผู้บุกเบิกในด้านนี้และคุณภาพรถที่ผ่านการพิสูจน์มาเป็นเวลายาวนาน ทำให้ได้รับความเชื่อถือไว้วางใจจากมหาชนชาวไทยจนอาจกล่าวได้ว่า ถนนทุกสายในประเทศนี้ไม่เคยขาดรถบัสโดยสารและรถบรรทุกที่มีสัญลักษณ์ดาวสามแฉกติดอยู่ และถ้าจะวัดระยะทางที่รถเหล่านี้ได้วิ่งรับใช้ปวงชนชาวไทยมาร่วมแปดทศวรรษก็คงรวมได้หลายรอบโลกทีเดียว

ในเมืองไทยมีรถเมอร์เซเดส-เบนซ์แทบทุกรุ่นประเภทเท่าที่เคยผลิตออกมา ทั้งรุ่นที่จัดจำหน่ายทั่วไปรุ่นพิเศษสุด เช่นรถติดตั้งซุปเปอร์ชาร์จยุคทศวรรษ 1930 หรือรุ่น 300 และ 220 ยุคหลังสงครามโลกทั้งแบบธรรมดาและแบบเปิดประทุนซึ่งหาได้ยากในปัจจุบัน รถ 300 SL ในรูปลักษณ์โฉบเฉี่ยวของคูเป้ และลิมูซีนรุ่น 600 ที่ใช้ในรัฐพิธีต่างๆ ช่วงกลางทศวรรษ 1970 ก็มีผู้สั่งซื้อ S-Class รุ่น 450 SEL 6.9 ซึ่งเป็นสุดยอดนวัตกรรมแห่งยุคสถิติการนำเข้ารถและผลสำเร็จจากการตั้งโรงงานประกอบรถหลายรุ่นในประเทศ คือรัศมีอันรุ่งโรจน์ของดาวสามแฉกซึ่งครองส่วนแบ่งการตลาดในประเทศไทยกว่า 30 เปอร์เซ็นต์

ย้อนอดีตสู่ปีพุทธศักราช 2406 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชการที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตัดถนนสายแรกในนครหลวง ชื่อถนนเจริญกรุง มีความยาว 6.5 กม. ตั้งต้นจากกำแพงพระบรมมหาราชวัง เลียบฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ไปสิ้นสุดที่บางคอแหลมหรือถนนตกในปัจจุบัน เพื่อใช้เป็นเส้นทางสัญจรของรถม้าและรถลาก

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระองค์ทรงโปรดให้ตัดถนนเพิ่มขึ้นอีกหลายสาย และทรงสนพระทัยเรื่องรถยนต์เป็นอย่างมาก จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2447 เสด็จกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ได้เสด็จไปรักษาพระองค์ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ได้ทรงสั่งให้บริษัทเยอรมันในกรุงปารีส ประกอบรถยนต์เก๋งหนึ่งคันยี่ห้อเมอร์เซเดส ซึ่งนับเป็นรถชั้นยอดในเวลานั้น

รถยนต์เมอร์เซเดสคันดังกล่าว ปรากฎหลักฐานการสั่งซื้อผ่านสถานเอกอัครราชทูตสยามประจำกรุงปารีส โดยสั่งซื้อจากออโตโมบิลยูเนียน ปารีส ตั้งอยู่เลขที่ 39 ถนนฌองส์ เอลิเซ่ ซึ่งเป็นบริษัทขายรถยนต์ของนายเอมิล เยลลิเน็ค รถคันนี้มาถึงสยามประเทศเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2447 ระบุผู้รับปลายทางคือพระมหากษัตริย์แห่งกรุงสยาม เป็นรถยนต์รุ่น 28 hp 4 สูบ เครื่องยนต์ 35 แรงม้า หมายเลขแชสซี คือ 2397 และหมายเลขเครื่องยนต์คือ 4290

ในขณะนั้น กรมหลวงราชบุรีฯ ทรงเร่งการประกอบรถยนต์แทบทุกวัน พอรถเสร็จก็ทรงว่าจ้างคนขับชาวอังกฤษขับรถคันนั้นพาพระองค์ท่าน พร้อมด้วย ม.จ. อมรทัต กฤดากร หลวงสฤษดิ์ สุทธิวิจารณ์ (ม.ร.ว.ถัด ชุมสาย) ตระเวนทั่วยุโรปภาคกลางเป็นการทดลองเครื่อง แล้ววนกลับไปยังนครปารีส

เมื่อเสด็จกรมหลวงราชบุรีฯ เสด็จกลับถึงเมืองไทย ก็ได้ทรงนำรถคันนั้นขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นที่พอพระราชหฤทัยยิ่งนัก รถยนต์คันนี้คือรถยนต์พระที่นั่งคันแรกในประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งผู้ที่ทำหน้าที่สารถีคือ เสด็จกรมหลวงราชบุรีฯ นั่นเอง

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดปรานรถยนต์พระที่นั่งมาก เพราะความสะดวกสบายและเดินทางได้เร็วกว่ารถม้าพระที่นั่ง เมื่อทรงว่างเว้นจากพระราชกรณียกิจก็มักเสด็จเยือนที่ต่างๆ ด้วยรถยนต์พระที่นั่งคันดังกล่าวเสมอ ต่อมาทรงเล็งเห็นว่ารถยนต์เพียงคันเดียวไม่เพียงพอที่จะใช้งานตามพระราชประสงค์ เนื่องจากพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายหน้าและฝ่ายในหลายพระองค์ก็ทรงโปรดปรานรถยนต์กันทั้งนั้น จึงได้ตัดสินพระทัยซื้อรถยนต์พระที่นั่งอีกหนึ่งคัน
ในครั้งนี้เสด็จกรมหลวงราชบุรีฯ ได้เป็นผู้แทนพระองค์ในการสั่งซื้อ และทรงเลือกรถเมอร์เซเดส-เบนซ์อีกครั้ง สั่งนำเข้าโดยตรงจากประเทศเยอรมนี เป็นรถเก๋งสีแดง รุ่นปี 2448 เครื่องยนต์สี่ลูกสูบ ขนาด 28 แรงม้า วิ่งเร็ว 73 กม. ต่อชั่วโมง ซึ่งนับว่าเร็วมากในยุคนั้นและพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานนามแก่รถยนต์คันนี้ ในทำนองเดียวกันกับโบราณราชประเพณีที่มีการพระราชทานนามแก่ช้างเผือกคู่บารมี ชื่อ “แก้วจักรพรรดิ์” ของรถยนต์พระที่นั่งคันนี้ มีความหมายว่า เป็นประดุจหนึ่งในแก้วเจ็ดประการอันเป็นของคู่พระบารมีแห่งองค์ราชันย์

เมื่อรถยนต์เป็นที่นิยมแพร่หลายในหมู่พระราชวงศ์และคหบดีพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำริว่าสมควรจะจัดงานเฉลิมฉลองสักครั้งหนึ่ง จึงทรงกำหนดให้วันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2448 เป็นวันชุมนุมรถยนต์ครั้งแรกในกรุงรัตนโกสินทร์ ปรากฏว่ามีรถยนต์ไปร่วมชุมนุมในบริเวณพระบรมมหาราชวังถึง 30 คัน และพระองค์ทรงมีพระราชปฏิสันถารกับเจ้าของรถทุกคน เมื่อถึงเวลาบ่ายสี่โมงเย็นก็ได้เคลื่อนขบวนรถไปตามถนนสามเสนเลี้ยวเข้าสู่สวนดุสิต โดยตลอดสองข้างทางมีผู้คนยืนเรียงรายชมขบวนด้วยความตื่นตาตื่นใจ

ปี พ.ศ. 2451 ใสวาระเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 56 พรรษา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสั่งรถยนต์เข้ามาจากประเทศฝรั่งเศสอีกครั้งเป็นจำนวน 10 คัน เพื่อพระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการชั้นสูงเพื่อใช้ในราชการแผ่นดิน รถทั้งสิบคันได้รับพระราชทานนามให้สอดคล้องกันเป็นที่ไพเราะจับใจ ได้แก่ มณีรัตนา ทัดมารุต ไอยราพตกังหัน ราชอนุยันต์ สละสลวย กระสวยทอง ลำพองทัพ พรายพยนต์ กลกำบัง สุวรรณมุขี

เมื่อมีการสร้างถนนหนทางในเมืองบางกอกมากขึ้น รถยนต์ก็กลายเป็นพาหนะที่สะดวกสบายและมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งรถส่วนบุคคล รถโดยสารประจำทางและไม่ประจำทางวิ่งขวักไขว่ไปมาบนท้องถนนทำให้การจราจรเริ่มติดขัดเนื่องจากรถวิ่งกันไม่เป็นระเบียบและเกิดอุบัติเหตุขึ้นบ่อยครั้ง ประกอบกับในสมัยนั้นยังไม่มีทะเบียนรถเป็นหลักฐานกรรมสิทธิ์ จึงมีปัญหาการลักขโมย และก่อให้เกิดความวุ่นวายตามมามากมาย

เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงมีการออกกฎหมายตราพระราชบัญญัติรถยนต์ฉบับแรกในประเทศสยาม เมื่อ พ.ศ. 2452 ภายใต้พระบรมราชโองการ ดังนี้

“ทุกวันนี้มีผู้ใช้รถยนต์ที่เรียกกันว่า “โอโตโมบิล” ขับไปมาอยู่ตามถนนหลวงมากขึ้น สมควรที่จะมีพระราชบัญญัติสำหรับการเดินรถและขับรถขึ้นไว้ เพื่อป้องกันเหตุการณ์อันตรายต่างๆ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติสืบไป...”

พระราชบัญญัติฉบับนี้ กำหนดให้เจ้าของจดทะเบียนรถกับกระทรวงมหาดไทย โดยเสียค่าธรรมเนียมคันละ 10 บาท ในช่วงเวลานั้นมีรถยนต์นั่งและรถบรรทุกทั้งในบางกอกและหัวเมืองต่างๆ ทั่วประเทศที่จะทะเบียนรวมทั้งสิ้น 412 คัน
ในเมื่อคนไทยหันมานิยมใช้รถกันมากขึ้น บริษัทต่างประเทศได้ทยอยกันเข้ามาเปิดกิจการในบางกอกมากมาย ว่ากันว่า ในยุคนั้นร้านรวงในย่านการค้าเมืองหลวงจะมีการขึ้นป้ายประกาศเปิดกิจการเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์รายใหม่แทบทุกสัปดาห์เลยทีเดียว รถยนต์ที่นำเข้ามีหลากหลายยี่ห้อ ทั้งจากประเทศฝรั่งเศส เยอรมนีและสหรัฐอเมริกา รวมไปจนถึงธุรกิจรถมือสองด้วย จนกระทั่งในปีพ.ศ. 2474 รถยนต์ที่จดทะเบียนทั้งหมดมีจำนวนถึง 3,222 คัน

อย่างไรก็ตาม เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ระอุขึ้นในปีพ.ศ. 2482 การสัญจรโดยรถยนต์ในเมืองไทยก็ต้องหยุดชะงักลงชั่วคราว จนเมื่อผ่านพ้นยุคข้าวยากหมากแพงไปแล้ว คนไทยก็หันมานิยมสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศอีกครั้ง และแน่นอนว่ารถยนต์ก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย

ในระยะแรกห้าง บี.กริมม์ เป็นบริษัทที่นำเข้ารถเมอร์เซเดส-เบนซ์ ในช่วงทศวรรษที่ 1900 รถคันที่เคยเป็นพาหนะคู่ใจของนายอดอล์ฟ ลิงค์ ผู้จัดการบริษัทในยุคทศวรรษ 1920 สืบมาจนถึงทายาทรุ่นหลังๆ ยังคงอยู่ในสภาพสมบูรณ์ใช้การได้ดีเช่นเดียวกับอีกหลายๆ คันที่ได้จำหน่ายแก่ลูกค้าชาวไทยในระยะต่อมาห้างบี.กริมม์ ยังได้จัดหารถใช้งานหลายประเภทให้กองทัพบกและหน่วยงานต่างๆ ของรัฐบาลไทย

พ.ศ. 2484 คุณเล็กและคุณประไพ วิริยะพันธุ์ (บุตรสาวของขุนวิจารณ์พานิช ผู้ก่อตั้งบริษัท วิริยะพานิช จำกัด) ได้ก่อตั้งบริษัท ธนบุรีพานิช จำกัด ขึ้นที่ถนนราชดำเนินกลาง ด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท เพื่อนำสินค้าคุณภาพดีจากยุโรปและอเมริกาเข้ามาจำหน่าย อาทิ ตู้เย็น เครื่องรับวิทยุ ยี่ห้อเทเลฟุงเก้น และรถหลากหลายยี่ห้อรวมถึงรถยนต์ชั้นเยี่ยมจากเยอรมันยี่ห้อเมอร์เซเดส-เบนซ์ด้วย

รถเมอร์เซเดส-เบนซ์ที่นำเข้ามาในยุคแรก เป็นรถบรรทุกสำหรับใช้ในกิจการทหารหรือการขนส่ง ในเวลานั้นรถบรรทุกส่วนมากเป็นรถที่นำเข้าจากอเมริกา มีแต่เครื่องยนต์เบนซินขนาดใหญ่ทำให้สิ้นเปลืองเชื้อเพลิง คุณเล็กและคุณประไพจึงได้นำเครื่องยนต์ดีเซลเมอร์เซเดส-เบนซ์เข้ามาใส่แทนที่ ทำให้ประหยัดและใช้งานได้ทนทานกว่า จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คนไทยรู้จักรถบรรทุกและรถโดยสารยี่ห้อ “เมอร์เซเดส-เบนซ์”

เมื่อตลาดรถเพื่อการพาณิชย์เป็นที่รู้จักอย่างดีแล้ว บริษัท ธนบุรีพานิชเล็งเห็นว่าควรขยายตลาดรถยนต์นั่งให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น เนื่องจากในช่วงนั้นยังไม่มีรถยนต์นั่งเมอร์เซเดส-เบนซ์จำหน่ายในประเทศไทย คุณเล็กและคุณประไพจึงเริ่มติดต่อโดยตรงกับทางเยอรมนี เพื่อขอเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์เมอร์เซเดส-เบนซ์อย่างเป็นทางการในประเทศไทยรายแรก

รถยนต์นั่งเมอร์เซเดส-เบนซ์รุ่นแรกที่ทางบริษัทฯ นำเข้ามาก็คือ Benz 170 V โดยนำเข้ามาจัดแสดงที่โชว์รูม ถนนราชดำเนินชุดแรกเพียง 4 คันเท่านั้น กิจการของธนบุรีพานิชได้เติบโตขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทั้งในด้านยอดจำหน่ายและจำนวนพนักงาน เนื่องจากคนไทยรู้จักและประทับใจในคุณภาพของเมอร์เซเดส-เบนซ์ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์นั่งหรือรถบรรทุก

ต่อมา คุณเล็กและคุณประไพได้ตั้งบริษัท ธนบุรีประกอบรถยนต์ จำกัด เพื่อประกอบเฉพาะรถบรรทุกในย่านยศเส และหลังจากนั้นขยับขยายไปที่สวนลุมพินี กิจการค้าและประกอบรถยนต์ของธนบุรีฯ นั้นขึ้นชื่อลือชาทั้งในด้านคุณภาพและบริการ ทำให้มีตัวแทนจำหน่ายรถเมอร์เซเดส-เบนซ์รายอื่นๆ เช่น ห้างยนต์วิชัย หรือลำปางชัย ทยอยเปิดตัวตามมา

ในปี พ.ศ. 2522 คุณพากเพียร วิริยะพันธุ์ บุตรชายคนโตของคุณเล็กและคุณประไพ ผู้ผ่านการศึกษาและฝึกงานกับบริษัทเมอร์เซเดส-เบนซ์ที่ประเทศเยอรมนีโดยตรง ได้สร้างโรงงานใหม่เพื่อประกอบทั้งรถยนต์นั่งและรถบรรทุกที่ปากน้ำ สมุทรปราการ ส่วนโรงงานเดิมที่ลุมพินีก็เปลี่ยนเป็นแผนกอะไหล่ทั้งหมด สำหรับโชว์รูมและสำนักงานใหญ่ก็ยังคงตั้งอยู่ที่ถนนราชดำเนินกลางจนถึงปัจจุบัน

ด้วยศักยภาพในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศไทย บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด จึงได้เข้ามาดำเนินกิจการในประเทศ โดยจดทะเบียนบริษัทฯ เมื่อต้นปี พ.ศ. 2541 ธุรกิจของบริษัทฯ ครอบคลุมทั้งการนำเข้าและประกอบรถยนต์จัดจำหน่ายรถยนต์นั่งสาธารณะและรถยนต์ส่วนบุคคล ทั้งที่เป็นรถเมอร์เซเดส-เบนซ์ รถไครสเลอร์ และรถจี๊ป ทั้งยังให้บริการหลังการขายแก่ลูกค้าแบบครบวงจรอีกด้วย โดยบริษัทฯ ยึดมั่นในปณิธานที่จะรักษาความเป็นหนึ่งในการผลิตรถยนต์ระดับหรู ดีไซน์เลิศและให้บริการที่สามารถสร้างความพึงพอใจสูงสุดแก่ลูกค้า

ดาวสามแฉกได้มาส่องสกาวนำทางอยู่บนท้องถนนเมืองไทยนับเป็นเวลากว่า 100 ปี เมอร์เซเดส-เบนซ์ได้รับความนิยมชมชื่นในฐานะรถคุณภาพชั้นนำที่รับใช้คนไทยสู่จุดหมายปลายทางอย่างปลอดภัยมาหลายยุคสมัย จวบจนวันนี้ ได้มีรถเมอร์เซเดส-เบนซ์โลดแล่นอย่างโดดเด่นเป็นสง่าทั่วประเทศไทยมาแล้วกว่า 100,000 คัน เมอร์เซเดส-เบนซ์ยังคงก้าวไปอย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อรักษาความเป็นผู้นำแห่งยนตรกรรมเลิศหรูในประเทศไทยอย่างแท้จริง

                     การพัฒนายุทธศาสตร์ใหม่ของMercedes Benzซึ่งเป็นการผสมผสานกันระหว่างการออกแบบที่ก้าวหน้าด้วยการใช้นวัตกรรม และวิศวกรรมเพื่อยานยนต์แห่งอนาคต...

                      ในอนาคตอันใกล้นี้ พลังงานทางเลือกใหม่อย่างไฮโดรเจนหรือระบบประจุพลังงานจากแบตเตอร์รี่ที่ส่ง ถ่ายกระแสไฟฟ้าไปยังมอเตอร์พลังสูงเพื่อกลายมาเป็นแรงบิดจะได้รับความนิยม มากขึ้นเมื่อเชื้อเพลิงฟอสซิสมีราคาสูงจนยันเพดาน บริษัท Mercedes Benz จึงวางแผนพัฒนารถยนต์รุ่นใหม่ในค่ายของตนบนโครงการรถ Concept Car ที่ใช้ชื่อว่า F800 Style ซึ่งใช้ระบบการขับเคลื่อนแบบ Multi-Drive โดยสามารถเลือกใช้การขับเคลื่อนตัวรถด้วยเชื้อเพลิงแบบ Fuel-Cell ไฮโดรเจนซึ่งใช้มอเตอร์ขนาด 134 แรงม้าหรือระบบ Plug In Hybrid ที่ติดตั้งเครื่องยนต์ V6 ปริมาตรความจุ 3.5 ลิตรพร้อมมอเตอร์ไฟฟ้าที่ให้กำลัง 107 แรงม้า การขับเคลื่อนทั้งสองแบบใช้เทคโนโลยีล่าสุดโดยจะมีให้เห็นได้ในรถ Mercedes Benz ของยุคต่อไปในอีก 3-4 ปีนี้ การใช้เส้นตัวถังที่อ่อนช้อยกลมกลืนของ F800 Style จะปรากฏภาพลักษณ์เดียวกันกับในรถรุ่น CLS โมเดลที่ 2 ที่จะออกขายในปี 2011-2012 นี้ ยุทธศาสตร์ใหม่ของ Mercedes Benz คือการใช้แนวคิดที่มีความหลากหลายมากขึ้นเพื่อออกแบบรถยนต์ในรูปลักษณ์ต่างๆ ตามวัตถุประสงค์ของการใช้งาน ทางเลือกของระบบขับเคลื่อนใหม่ในอนาคต ระบบควบคุมและจัดแสดงข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการขับ ฟังก์ชั่นของระบบให้ความช่วยเหลือผู้ขับขี่แบบใหม่ล่าสุดTraffic Jam Assist ระบบแรกในโลกแห่งยนตกรรมและนับเป็นเจ้าแรกของโลกที่สามารถวิ่งตามรถยนต์คัน ข้างหน้าผ่านทางโค้งโดยผู้ขับไม่จำเป็นต้องสัมผัสกับพวงมาลัยแต่อย่างใด!
จากhttp://www.mercedes-benz.co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น