สิ่งที่ไม่ต้องอธิบายกันมากคือนักศึกษาเหล่านี้เป็นสุดยอดหัวกะทิของอเมริกา ไปแข่งขันอะไรก็มักจะชนะอยู่เสมอ เพื่อให้เห็นภาพ ตัวแทนนักศึกษาของ Harvard เพิ่งไปชนะการแข่งขัน Putnam Math Competition ในปีนี้ และเป็นชัยชนะครั้งที่ 25 ของ Harvard ในขณะที่อันดับสองคือ Cal Tech เคยชนะเพียง 9 ครั้งเท่านั้น
ความสำเร็จแบบนี้ของ Harvard ไม่ได้มาเพราะโชคช่วย แต่ว่าเกิดจากการทำงานหนัก และเคล็ดลับอยู่ที่ Harvard ต้องเป็นฝ่ายไปเลือกนักศึกษาตั้งแต่ก่อนสมัครเข้าเรียนเสียอีก เพียงแต่ว่านักศึกษาเหล่านี้ไม่รู้ตัวเท่านั้น!!!
William R. “Bill” Fitzsimmons คณบดีฝ่ายรับนักศึกษาใหม่ของ Harvard เปิดเผยอย่างหมดเปลือกว่า กระบวนการรับนักศึกษาของมหาวิทยาลัยแบ่งเป็น 3 ขั้นตอน มิหนำซ้ำยังสำทับว่า ฝ่ายรับนักศึกษาใหม่หรือ admission นั้นทำงานกันหนักมาก หนักสุดๆ กว่าใครในมหาวิทยาลัยด้วยซ้ำ
ขั้นแรกจะเริ่มต้นขึ้นในช่วงฤดูใบไม้ผลิของทุกๆ ปี ทีมงานของ Harvard จะซื้อชื่อนักศึกษาหัวกะทิทั่วประเทศกว่า 70,000 รายชื่อ จากหน่วยงานที่ทำการวัดผลการทดสอบของนักเรียนในอเมริกา (ซึ่งได้แก่ College Board ผู้จัดสอบ SAT และ ACT Inc. ซึ่งทำหน้าที่จัดการเรื่องรับนักศึกษาในบางรัฐ) ทางทีมงานนั้นถือว่านักเรียนเหล่านี้ทุกคน “มีความต้องการจะสมัครเข้าเรียนที่ Harvard”
Fitzsimmons บอกว่านี่เป็นการคัดกรองแบบหยาบๆ เท่านั้น แต่ก็ได้ผลดี เพราะนักเรียน 70% ที่ Harvard รับเข้าเรียนในตอนสุดท้าย มีชื่ออยู่ในรายชื่อชุดนี้
นอกจากนี้ Harvard ยังส่งทีมตระเวณทั่วประเทศ โดยจะมีทัวร์ชุดแรกที่ร่วมกับมหาวิทยาลัยชื่อดังอื่นๆ อีก 4 ราย (Stanford, Duke, Georgetown, U Penn) ตระเวณตามโรงเรียน 140 แห่งทั่วประเทศ แต่ Harvard ยังมีทีมทัวร์เฉพาะของตัวเอง ตระเวณอีกกว่า 100 แห่งเช่นกัน ในสถานที่เหล่านี้รวมถึงต่างประเทศด้วย เพราะ Harvard มีนักเรียนต่างชาติประมาณ 10%
Fitzsimmons มีทีมงานส่วนตัวของเขา 35 คน แต่เขาก็มีอาสาสมัครเป็นศิษย์เก่า และอาจารย์ของ Harvard อีกจำนวนมากช่วยกันสอดส่องหาเพชรในตม ตัวอย่างเช่น ภาควิชาคณิตศาสตร์จะส่งคนไปเก็บรายชื่อเด็กที่ชนะเลิศการแข่งขันคณิตศาสตร์รายการใหญ่ต่างๆ ของอเมริกา ส่วนอาสาสมัครที่เป็นศิษย์เก่านั้นมีถึง 8 พันคน คนเหล่านี้จะคอยตามหาตัวนักเรียนชั้นเลิศจากโรงเรียนในท้องถิ่น ชักจูงและโน้มน้าวให้นักเรียนเหล่านี้สมัครเข้า Harvard และสุดท้ายจะมีบทบาทในกระบวนการสัมภาษณ์ด้วย
Harvard นั้นได้ชื่อว่าเป็นสถาบันอุดมศึกษาของผู้มีอันจะกิน และโดนโจมตีมาโดยตลอด ทางมหาวิทยาลัยแก้ทางโดยการให้ทุนการศึกษาทั้งหมดแก่นักเรียนยากจน (ค่าใช้จ่ายตกปีละ 43,700 ดอลลาร์ หรือ 1.5 ล้านบาท) และให้นักเรียนยากจนรุ่นพี่ คอยติดต่อไปยังนักเรียนยากจนรุ่นน้อง โฆษณาว่ามหาวิทยาลัยอย่าง Harvard นั้นมีโอกาสดีๆ แบบนี้มอบให้ ซึ่งเขาและเธอได้รับมันมาแล้วจริงๆ
ขั้นที่สองจะเริ่มขึ้นหลัง Harvard รับใบสมัครมาจากนักศึกษาทั่วประเทศ ใบสมัครทุกใบจะโดนคัดกรอง โดยจะให้คะแนนตั้งแต่ 1-6 (1 คือ ดีเลิศชนิดไม่เคยมีมาก่อน 6 คือคัดทิ้งทันที) จากนั้น Fitzsimmons จะขอให้เหล่าอาจารย์ได้ตรวจสอบใบสมัครของนักเรียน ตามสาขาที่ตัวเองถนัดว่าใช้ได้มากน้อยอย่างไร
จากนั้น ใบสมัครจะถูกคัดแยกตามพื้นที่ที่นักเรียนคนนั้นอาศัยอยู่ แบ่งออกเป็น 20 เขต แต่ละเขตจะมีอนุกรรมการย่อยรับผิดชอบ และคณะอนุกรรมการจะใช้วิธีถกเถียงกันว่าจะรับนักศึกษาคนนี้เข้า Harvard หรือไม่ โดยใช้วิธีลงคะแนนกันสำหรับใบสมัครทุกๆ ใบ
เท่านั้นยังไม่พอ เมื่อผ่านขั้นตอนของคณะอนุกรรมการแล้ว ใบสมัครนั้นยังจะต้องผ่านกระบวนการรีวิวและโหวตซ้ำอีกครั้ง โดยกรรมการชุดใหญ่ที่มีสมาชิก 35 คน ขั้นตอนทั้งหมดจะทำซ้ำไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้นักศึกษาครบตามจำนวนที่ต้องการ
Fitzsimmons ให้ความเห็นว่ากระบวนการแบบนี้ต้องใช้คนจำนวนมาก ซึ่งจะเกิดการ check & balance อย่างรอบคอบ
ขั้นสุดท้าย นักเรียนที่ผ่านการคัดเลือกจะได้รับจดหมายตอบรับเข้าเรียนที่ Harvard แต่ทาง Harvard จะส่งศิษย์เก่า อาจารย์ และอาสาสมัครเข้าประกบโดยโทรศํพท์ไปหานักเรียนแต่ละคน ชักจูงให้ตอบรับเข้ามาเรียนที่ Harvard
สิ่งสำคัญคือ นักเรียนที่มีสิทธิ์เข้าเรียน Harvard นั้นสามารถไปสมัครมหาวิทยาลัยอื่น และรอผลจากที่อื่นเพื่อประกอบการตัดสินใจได้ ซึ่งจะต่างจากมหาวิทยาลัยชั้นนำอื่นๆ ในสหรัฐ ที่นักเรียนต้องตัดสินใจทันทีว่าจะเอาที่นี่หรือไม่ถ้าเกิดว่าผ่านการพิจารณา Fitzsimmons บอกว่าการสร้างความกดดันให้กับนักเรียนชั้นเลิศเหล่านี้ ไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้อง
เรียบเรียงจาก Business Week
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น